Topic

Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (ตอนที่ 1)

Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (ตอนที่ 1)

ความหมาย ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่มีแบบจำลองเกี่ยวกับการผลิต (Production) และการบริโภค (Consumption) ในลักษณะเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ การแบ่งปัน (Sharing) การให้เช่า (Leasing) การใช้ซ้ำ (Reusing) การซ่อมแซม (Repairing) การทำให้ใหม่ (Refurbishing) การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Recycling) โดยเป็นกิจกรรมที่ทำให้ทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบและสินค้า (Existing materials and products) ถูกยืดอายุการใช้งานให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในทางปฏิบัติ การขับเคลื่อน Circular economy ถูกคาดหวังว่า ขยะจะเกิดขึ้นน้อยลง (เพราะการยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ ทำให้ช่วยชะลอการใช้วัตถุดิบ อีกทั้งมีหระบวนการใช้ซ้ำ ทำให้การเพิ่มขยะมีอัตราการเติบโตที่ลดลง

ในทางเศรษฐศาสตร์มีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจแบบเดิมว่า มีรูปแบบ “A take-make-consume-throw away pattern” ซึ่งมีความเจ็บแสบอยู่พอสมควรเพราะกล่าวหาว่าระบบเศรษฐกิจแบบเดิมที่เป็นอยู่นั้นเอาแต่เน้นเอาทรัพยากรมาผลิตให้ได้มากๆ จะได้มีต้นทุนต่ำๆ แต่ก็ต้องใช้วัตถุดิบและพลังงานเป็นจำนวนมาก จากนั้นก็ส่งเสริมให้บริโภคมากๆจะได้ขายได้มากๆ บริโภคเสร็จก็จะเกิดขยะกันมากขึ้นเป็นทวีคูณ

นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จากระบบเศรษฐกิจแบบเดิมมีลักษณะอายุสั้น (A limied lifespan) เพราะต้องเร่งให้บริโภค และกระตุ้นให้รีบกลับมาซื้ออีก

ทำไมเราถึงต้องการ Circular Economy 

🔶 ประชากรโลกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดความต้องการทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรอื่นๆเพิ่มขึ้น แต่อุปทานของทรัพยากรเหล่านั้นมีจำกัด
🔶 การใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาลส่งผลต่อความเสื่อมโทรมในสภาพแวดล้อมของโลก นอกจากนี้กระบวนการเปลี่ยนวัตถุดิบเป็นสินค้าและบริการยังต้องใช้พลังงานจำนวนมาก (Energy consumption) และเป็นแหล่งสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ( CO2 emissions) มีการคาดการณ์ว่ากระบวนการใช้ทรัพยากรผลิตสินค้าบริการ เป็นแหล่งใหญ่ถึง 45% ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ประโยชน์ของ Circular Economy 

🔶 ช่วยลดความกดดันเรื่องการทำลายสภาพแวดล้อม
🔶 ช่วยปรับปรุง รักษาไม่ให้อุปทานของทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัดลดลงเร็วเกินไป
🔶 ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนที่แท้จริง
🔶 ช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง
🔶 ช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม
🔶 ช่วยสร้างงานใหม่ๆให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ

ผลประโยชน์เหล่านี้ยังตกไปถึงผู้บริโภคที่จะได้รับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่มีความคงทนถาวรมากขึ้น (More durable) และมีนวัตกรรมที่ก้าวหน้าขึ้น (Innovative) ซึ่งยังคงดีต่อคุณภาพของชีวิตและคุ้มค่า ประหยัดเวินที่จ่ายไป

ที่มา : http://www.europarl.europa.eu

บทความโดย
รศ.(พิเศษ)ดร.กฤษฎา เสกตระกูล
ที่ปรึกษา
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย