Topic

อุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์กับ Digital Disruption

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เป็นภาคธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับประเทศไทยมาโดยตลอด เห็นได้จากภาครัฐจะต้องกำหนดกรอบนโยบายอย่างชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ไปยังทิศทางที่ถูกต้อง และที่สำคัญยังต้องสอดรับกับความต้องการของตลาดโลกที่มีตัวแปรสำคัญคือการแข่งขันกันอย่างสูงในเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรม รูปแบบไลน์การผลิต การควบคุมต้นทุน การแทนที่ของแรงงานคน ควบรวมไปถึงทางเลือกใหม่อย่างรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นสาระสำคัญที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการในประเทศจะต้องเตรียมการรับมือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์บนเวทีโลก

“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีกำลังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความยั่งยืนและความมั่นคงของทุกองค์กร ทุกภาคส่วนธุรกิจภายในประเทศของเรา” ดร.สมชัย ไทยสงวนวรกุล ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดประเด็นให้สัมภาษณ์กับทีมงาน THE STANDARD อย่างเป็นกันเอง ในคราวเข้ารับรางวัล SET Awards กลุ่มรางวัล Sustainability Excellence ประเภท Highly Commended in Sustainability Awards ในกลุ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดระหว่าง 3,000-10,000 ล้านบาท

SET Awards

กับคำถามที่ว่ารับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้อย่างไร ผู้บริหารใหญ่แห่ง SNC ให้ทัศนะไว้อย่างชัดเจนว่า “ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติในโลกธุรกิจ เพียงแต่ปัจจุบันนี้ค่อนข้างรวดเร็วมาก ถ้าเราไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ก็อาจถูกตัดออกจากการแข่งขันทันที และสิ่งที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงความคิดคน ทีมงานที่บ่อยครั้งมักยึดติดกับความรู้เดิม เพราะเคยทำแบบนี้มาก่อน ซึ่งมันก็ใช้ได้ แต่ ณ เวลานี้ความรู้เก่าหรือการกระทำที่เคยสำเร็จในอดีตมันใช้ไม่ได้แล้ว และความยากอีกสิ่งคือทีมงานเก่าและทีมงานใหม่ที่ต้องทำงานร่วมกัน ยกตัวอย่าง ทีมงานใหม่มีเทคโนโลยีติดตัวมา ทีมงานเก่าไม่มี แต่ทีมงานใหม่ไม่มีประสบการณ์ แต่ทีมงานเก่ามี จะทำอย่างไรให้ทั้งสองกลุ่มทำงานเข้ากันให้ได้ หากเราไม่สามารถฝ่าด่านตรงนี้ บริษัทก็อยู่ไม่ได้ และผมมองว่าตอนนี้น่าจะเป็นปัญหาระดับประเทศแล้วสำหรับการทำงานร่วมกันของคนสองเจเนอเรชัน”

SET Awards

หัวใจสำคัญที่จะทำให้องค์กรสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ “ปัจจัยอยู่ที่คนครับ บริษัทเรามีอายุ 30 ปี เรามีคนเก่าพร้อมทั้งคนรุ่นใหม่ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าเราต้องบริหารคนสองกลุ่มนี้ให้ได้ เนื่องจากบริษัทเรามีธุรกิจที่หลากหลาย สิ่งที่เราทำมาโดยตลอดคือการให้ทักษะกับพนักงานจนเกิดความสำเร็จในเนื้องาน เขาจะเกิดความเชื่อมั่นขึ้นและพร้อมที่จะเพิ่มเติมความรู้ในส่วนอื่นๆ ขึ้นตามลำดับ ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงทางด้านการผลิตเราก็นำนวัตกรรมใหม่ๆ มาเสริม แม้กระทั่งการมองหาธุรกิจใหม่เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ก็ไม่อาจมองข้าม ซึ่งในทางเดียวกันก็ต้องรักษาธุรกิจเดิมให้มีกำไร สามารถดูแลค่าใช้จ่ายตัวเองให้ได้ด้วย โดยเรื่องนี้เรากำลังผสมผสานและปรับตัวอย่างเร่งด่วนที่สุด”

ในช่วงท้ายของการพูดคุย ดร.สมชัย ได้แสดงทัศนะถึงอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วง 3-5 ปีไว้อย่างน่าคิด “เป็นความท้าทายครั้งสำคัญระดับชาตินะครับ จำเป็นต้องถามก่อนว่านโยบายของรัฐบาลวางแผนไว้อย่างไรใน 3-5 ปีข้างหน้า ถามว่าทำไม เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์มียอดส่งออกเป็นอันดับหนึ่งกว่าล้านล้านบาทต่อปี มีห่วงโซ่อุปทานยาวและกว้างมาก ยังไม่นับรวมเรื่องโลจิสติกส์ ถ้าเราเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า ห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดจะทำอย่างไร และไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ภายในประเทศเพียงพอหรือยัง ผมมองว่าเป็นอะไรที่น่ากลัวมากสำหรับประเทศไทย”

ลำดับถัดมาก็ถึงคิวของผู้บริหารสาวมากความสามารถ นภัสร กิตะพาณิชย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ที่เน้นหลักปรัชญา 3 สมบูรณ์สร้างสมดุล ฅนสมบูรณ์ ธุรกิจสมบูรณ์ ชุมชนสมบูรณ์ ส่งผลให้ได้รับเลือกเข้ารับรางวัล SET Awards กลุ่มรางวัล Sustainability Excellence ประเภท Sustainability Awards of Honor ในกลุ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดระหว่าง 3,000-10,000 ล้านบาท

SET Awards

“ในภาวะของการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่อง รวดเร็ว ไม่แน่นอนของอุตสาหกรรมยานยนต์ในตอนนี้ ปัจจัยสำคัญอาจเป็นเรื่องของสภาพเศรษฐกิจการเมือง ถัดมาก็เป็นเรื่องของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและ Environment Social Governance ซึ่ง SAT ของเราเน้นให้ความสำคัญที่ตัวคนเป็นปัจจัยหลัก ต้องเป็นคนที่มีใจมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงขององค์กร พร้อมเปิดใจยอมรับ (Heart) มีความคิดและความสามารถเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (Head) และลงมือทำเพื่อพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น (Hand)

“นอกจากนี้เราจะทำอย่างไรให้คนของเราสมบูรณ์ทั้งในเรื่องของทักษะและการพัฒนาตัวเอง โดยเน้นไปที่ความรู้ความสามารถเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงในยุคของ Digital Disruption ที่ไม่ใช่แค่เพียงรองรับความต้องการในปัจจุบัน แต่ต้องตอบโจทย์ในอนาคตด้วย ทั้งนี้คนสมบูรณ์ในความหมายของเราไม่ใช่เก่งแค่เรื่องงาน แต่ต้องมีจิตใจที่สมบูรณ์ มีเมตตาในการทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อสร้างคุณค่าให้กับตนเอง องค์กร และสังคม”

SET Awards

การสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ อย่างสมดุลคือความหมายแท้จริงในการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการดำเนินงานโดยรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสร้างโอกาสให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และมองหาช่องทางในการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยการเชื่อมโยงกลยุทธ์การพัฒนาคน นำไปสู่การพัฒนาองค์กรภายใต้หลักคิดเชิงบวกและเป็นมิตรต่อชุมชน กระทั่งกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะขององค์กรนี้

“อีกกลยุทธ์หนึ่งคือการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะเราคือผู้ผลิตเพลารายใหญ่ของประเทศ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการออกแบบและพัฒนาระบบกันสะเทือนและชิ้นส่วนเครื่องยนต์สำหรับรถกระบะและรถบรรทุกโดยตรง ซึ่งบริษัทได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถในสายอาชีพของพนักงานและการพัฒนาห่วงโซ่ธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน นับเป็นสิ่งที่บริษัทในกลุ่มสมบูรณ์ให้ความสำคัญ ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัยที่ได้รับการถ่ายทอดจากประเทศญี่ปุ่น ผนวกกับผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เน้นคุณภาพมาตรฐานระดับสากล และการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจให้ขยายกว้างออกไปจะทำให้เราบรรลุเป้าหมายตามแนวคิดหลัก ทำให้ธุรกิจสมบูรณ์” 

ก่อนการสนทนาจะจบลง ผู้บริหารสาวของ SAT ได้กล่าวทิ้งท้ายเน้นย้ำในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม “ถ้าอยากเห็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะเน้นแต่เรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเท่านั้นไม่ได้ การสร้างคุณค่าให้เกิดกับคน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม มีความจำเป็นที่จะต้องถูกคำนึงถึงในทุกๆ การตัดสินใจของบุคลากรทุกๆ ระดับในองค์กร หากผู้ประกอบสามารถสร้างสมดุลต่างๆ เหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้ เชื่อได้เลยว่าจะสามารถสร้างคุณประโยชน์ต่อภาพกว้าง และยังเพิ่มคุณภาพให้กับผู้คน เพิ่มมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน”

มาถึงผู้บริหารคนสุดท้าย สมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ที่ในวันนี้ได้นำพาบริษัทก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงสู่ยุค Digital Disruption ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมา รางวัล SET Awards กลุ่มรางวัล Sustainability Excellence ประเภท Highly Commended in Sustainability Awards ในกลุ่ม mai น่าจะเป็นสิ่งการันตีความมากประสบการณ์ของบริษัท FPI ได้เป็นอย่างดี  

SET Awards

“Disruption เป็นเรื่องที่หลายๆ ฝ่ายกำลังให้ความสำคัญ บริษัทของเราก็คุยเรื่องนี้กันอยู่ตลอด ยิ่งในประเด็นเรื่องรถไฟฟ้าที่กำลังเข้ามาสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ หากเกิดขึ้นจริง ชิ้นส่วนประมาณ 2-3 หมื่นรายการในการประกอบรถยนต์จะเหลืออยู่หลักพันรายการเท่านั้นที่ยังต้องผลิต การจ้างงานและอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะถูกเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะ เป็นเรื่องใหญ่นะครับ ตรงจุดนี้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต้องชัดเจน” 

แม้นวัตกรรมและเทคโนโลยีจะก้าวไกลไปแค่ไหน แต่ในมุมคิดของผู้บริหารระดับสูงยังคงตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย

“ฟอร์จูน พาร์ท เน้นนโยบายสิ่งแวดล้อมเสมอ เรามีโครงการสำนักงานสีเขียว มีการควบคุมการใช้พลังงานตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ลดและควบคุมของเสียให้เกิดน้อยที่สุด รณรงค์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกกิจกรรมทางธุรกิจ ที่สำคัญเราเน้นปฏิบัติให้ถูกต้องสอดคล้องกับกฎหมาย ข้อกำหนดของลูกค้า และข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ส่วนหนึ่งผมเองในฐานะนายกสมาคมชิ้นส่วนยานยนต์ได้เข้าประชุมกับทางสภาอุตสาหกรรมเรื่องของก๊าซเรือนกระจกและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานยูโร 5 เหล่านี้เป็นสิ่งหนึ่งที่เราคุยกันประจำว่าจะทำอย่างไรเพื่อลดคาร์บอนลง ซึ่งค่ายรถยนต์ถูกบังคับว่าต้องทำในส่วนของเรื่องการรักษ์สิ่งแวดล้อม”

SET Awards

FPI ยังคงเดินหน้าดำเนินธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์แบบครบวงจร ภายใต้การยกระดับนวัตกรรมเพื่อพัฒนากระบวนการออกแบบและผลิต หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ  

“องค์กรของเราเติบโตอย่างสร้างสรรค์ ยั่งยืน และยังพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ่านพันธมิตรและพัฒนาคู่ค้าให้ครอบคลุมกระบวนการทางธุรกิจโดยใช้หลักธรรมาภิบาลเพื่อขยายตลาดผ่านช่องทางการจำหน่ายไปทั่วโลก โดยเน้นกลยุทธ์สร้างคุณค่าตามความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย ในแผนที่เรากำหนดไว้มีการวัด วิเคราะห์ ตรวจสอบตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมว่าตรงเป้าและเป็นไปในทิศทางที่ใช่หรือไม่ เพราะหัวใจสำคัญจุดแรกก็คือต้องทำเรื่องผลตอบแทนสำหรับผู้ลงทุนให้เห็นอย่างชัดเจน ผู้ประกอบการไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ทำแล้วต้องรู้ว่าผลตอบแทนเป็นอย่างไร ชี้วัดประสิทธิภาพ มองหาข้อบกพร่อง และรีบแก้ไขให้ได้โดยเร็ว ยิ่งในภาวะที่ต้องแข่งขันกันมากขนาดนี้ การตัดสินใจในการลงทุนต้องมีความคล่องตัวควบคู่ไปกับความแม่นยำ บริษัทจะอยู่รอดได้ต้องมีกำไรครับ เพราะถ้าบริษัทไม่มีกำไร ดูแลตนเองให้ได้ก่อนจะขับเคลื่อนไปในรูปแบบอื่นๆ ผมมองว่าไม่ง่าย”

ทั้งหมดนี้คือทัศนะจากผู้บริหารทั้ง 3 คนที่มีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันในเรื่องของการเร่งพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรไปพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยี และตามให้ทันนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะใส่ใจผู้คน ชุมชน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม จริงอยู่ที่ปรากฏการณ์ Digital Disruption ได้ทำการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ไปแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนทุกอย่างไปได้เสียทั้งหมด มนุษย์ยังคงเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถยกระดับขีดความสามารถของตนเองขึ้นได้อีกมากมาย หากรู้จักปรับเปลี่ยนทัศนคติ เปิดรับสิ่งใหม่ ผสมผสาน สร้างสมดุลต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้ เพราะถ้าให้ถอดรหัสแท้จริง เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวไกลต่อเนื่องไม่หยุดยั้งนั้นก็มาจากสมองของมนุษย์นี่ล่ะที่ผลักดันก่อรูปขึ้นมา 

อ่านต่อ... https://thestandard.co/set-awards-sustainability-excellence/?fbclid=IwAR0EY0lpfQVlBguDPQiUTAsaAMl-tLnZimUHHdAsxccA1wsz0vg_37G-ZRE

Credit: The Standard: Stand up for the people https://thestandard.co/homepage/