Topic

แนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเคารพและสนับสนุนสิทธิเด็กกับภาคธุรกิจ

 

หลายองค์กรไม่เคยคิดว่าเด็กเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ โดยให้เหตุผลว่าองค์กรไม่ได้ใช้แรงงานเด็กหรือสินค้าที่ขายก็ไม่ใช่ของที่ขายให้เด็ก แต่ถ้าลองย้อนคิดกลับไปตอนเป็นเด็ก หลายคนอาจเคยอยู่ในสถานการณ์ที่พ่อแม่ทำงานจนดึกและไม่สามารถช่วยสอนการบ้าน หรือมีความสับสนระหว่างสิ่งที่เห็นจากทีวีว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ หรือถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนที่เห็นตัวอย่างมาจากทีวี หรือโดนไฟฟ้าดูดเนื่องจากไม่ได้ติดตั้งสายดิน หรือพื้นที่วิ่งเล่นที่วันหนึ่งกลายเป็นถนนจนต้องไปเตะฟุตบอลบนถนน

ในอีกมุมมอง เด็กอาจเป็นคนที่ทำให้พ่อแม่ตัดสินใจบางอย่าง เช่น เลือกทำงานที่ได้เงินน้อยลงแต่มีเวลาให้ลูกมากขึ้น เลือกซื้อบ้านที่อยู่ใกล้โรงเรียนลูก เลือกซื้ออาหารที่เป็นประโยชน์ต่อลูก เรื่องเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับเด็กและสามารถกำหนดความได้เปรียบเสียเปรียบ หรือโอกาสทางธุรกิจแก่ธุรกิจได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เด็กจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สามารถเป็นได้ทั้งจุดแข็งหรือจุดอ่อนของธุรกิจ ดังนั้นการกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กจำเป็นต้องทำความเข้าใจความต้องการและผลกระทบที่มีต่อเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบสินค้าและบริการให้เป็นมิตรต่อเด็กรวมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

องค์การยูนิเซฟซึ่งมีความเข้าใจถึงมิติดังกล่าวจึงได้พัฒนาคู่มือต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้ธุรกิจสามารถผสานงานด้านสิทธิเด็กเข้าไปในการดำเนินงาน โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนนำมาเผยแพร่เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนและธุรกิจต่างๆ จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับองค์กรของตนเองต่อไป

 

ก้าวแรกของการทำความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็กกับธุรกิจ

เรื่องของเด็กกับการดำเนินธุรกิจ Click

ความรู้เบื้องต้นเพื่อเริ่มต้นทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิเด็กกับธุรกิจในมิติของสถานประกอบการ สินค้าและบริการ รวมถึงในสิ่งแวดล้อมและชุมชน

เด็กเป็นเรื่องของทุกคน: คู่มือฉบับ 2.1 Click

คู่มือการผสานสิทธิเด็กเข้ากับกระบวนการสร้างกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กร ที่ประกอบด้วยเครื่องมือสำหรับการกำหนดนโยบาย การประเมินผลกระทบ ตลอดจนการจัดทำรายงานความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจตามแนวทาง GRI Standards และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

คู่มือฉบับนี้ยังเป็นเครื่องชี้นำสำหรับองค์กรที่ต้องการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนรอบด้านในส่วนของสิทธิเด็ก (Human Rights Due Diligences - Children focused) โดยการใช้หลักสิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ (Children’s Rights and Business Principles: CRB) เพื่อแบ่งมิติด้านสิทธิเด็กเป็นในส่วนของการเคารพ (Respect) และการสนับสนุน (Support)

 

การลงลึกถึงกระบวนการวางแผนและนำไปปฏิบัติ

คู่มือการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์: การทำงานร่วมกันเพื่อเด็ก Click

คู่มือนี้ช่วยเรื่องการวางแผนแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์เพื่อเด็กตลอดทั้งกระบวนการ หรือ Result-based Management-RBM โดยท่านจะสามารถเข้าใจถึงหลักในการวางแผนการพัฒนาต่างๆ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามที่ประสงค์ผ่านโครงการต่างๆ ที่สามารถเชื่อมโยงสู่เป้าหมาย และลดโอกาสในการเดินหลงทางหรือการทำกิจกรรมที่ไม่จำเป็น

การมีส่วนร่วมด้านสิทธิเด็กของผู้มีส่วนได้เสีย Click

เครื่องมือนี้เป็นแนวทางสำหรับภาคธุรกิจทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้เสียที่บริษัทเกี่ยวข้อง สามารถใช้หารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นด้านสิทธิเด็กเพื่อเปิดโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายขององค์กร และกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ เช่น การประเมินผลกระทบที่เป็นไปได้ด้านสิทธิมนุษยชน การดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อผลจากการประเมิน การติดตามและสื่อสารถึงผลของการดำเนินการ  รวมถึงการพัฒนากลไกสำหรับบรรเทาปัญหา ซึ่งสามารถนำไปผนวกเข้ากับกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป้าหมายระยะยาวขององค์กรได้

นโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว: คู่มือสำหรับภาคธุรกิจ Click

คู่มือนี้เป็นแนวทางสำหรับภาคธุรกิจที่ต้องการพัฒนาประสิทธิภาพองค์กร การรักษาแรงงานที่สำคัญ การพัฒนานโยบายความเป็นมิตรต่อครอบครัว (พนักงาน) ที่เป็นการสร้างพันธสัญญาระยะยาวอย่างมีความหมาย รวมถึงการตอบสนองต่อความต้องการของแรงงานและฝ่ายบริหาร ซึ่งการดำเนินงานเหล่านี้จะช่วยให้องค์กรสามารถเข้าใจความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อแปรสภาพองค์กรให้เป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวของพนักงาน เข้าใจช่องว่างและสามารถเติมเต็มจนส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่องตามความต้องการที่เปลี่ยนไป

 

คู่มือการปกป้องดูแลเด็กสำหรับภาคธุรกิจ Click

คู่มือนี้เป็นการแนะนำขั้นตอนการระบุและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และสาระสำคัญของการปกป้องดูแลเด็ก (Child Safeguarding) ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถคุมการปฏิบัติงานที่อาจส่งผลกระทบต่อการอยู่ดีมีสุขของเด็ก อาทิ การทารุณกรรม การล่วงละเมิดทางร่างกายทางเพศและทางอารมณ์ การปฏิบัติที่ไม่ดีต่อเด็กโดยพนักงานและบุคคลอื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กร โดยคู่มือจะกล่าวถึงตั้งแต่การกำหนดนโยบายเพื่อการปกป้องดูแลเด็ก การนำแผนไปปฏิบัติ จนถึงการจัดการและการรายงานข้อกล่าวหาเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อเด็ก