Topic

การฟอกเขียว (Greenwashing)

การฟอกเขียว (Greenwashing) …อุปสรรคของการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน

ท่ามกลางปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมมากมายที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเร่งรับมือ แก้ไขและป้องกันจากความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงรอบด้านอยู่ตลอดเวลา ความไม่พร้อมอาจส่งผลเสียมหาศาลในทุกมิติ ฉะนั้นการเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายรุนแรงจากวิกฤติเป็นสิ่งจำเป็น แต่รอภาครัฐหรือเอกชนทำฝ่ายเดียวไม่ได้ การร่วมมือของภาครัฐและเอกชนเป็นหนทางเดียวในการลดผลกระทบในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม (ESG) และเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนไปทั้งประเทศ โดยตลาดทุนถือเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เนื่องจากมีทุนมากพอที่ทำให้เกิดการปฏิบัติจริงและมีความยืดหยุ่นสูง ดังนั้นตลาดทุนควรให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืนมากที่สุด รวมถึงจัดสรรเงินลงทุนในกิจกรรมที่ถูกต้องและเกิดการลดผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมจริง

นอกจากผนวก ESG เข้ากับการดำเนินธุรกิจเดิมขององค์กรแล้ว การลงทุนด้าน ESG ในปัจจุบัน มีมูลค่าเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว มูลค่า AUM ในไทย มีมากกว่า 48,000 ล้านต่อปี* การลงทุนด้าน ESGไม่ใช่เรื่องใหม่อีกแล้ว แต่ยังถือว่าเป็นการลงทุนที่ท้าทาย เพราะนอกจากมิติเศรษฐกิจที่ต้องคำนึงถึงแล้ว มิติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ประเมินมูลค่าก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งเวลาที่นักลงทุนตัดสินใจลงทุนอะไรก็ตาม ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจล้วนสำคัญ ดังนั้นการลงทุนในสินทรัพย์ ESG ข้อมูล ESG ที่ถูกต้องและแม่นยำคือกุญแจสำคัญ ทว่าอุปสรรคใหญ่หนึ่งของการลงทุนด้าน ESG คือข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยโดยบิดเบือนหรือเปิดเผยไม่ครบตามจริง และนั่นคือ การฟอกเขียว หรือ Greenwashing

Greenwashing คืออะไร?

“คือ การอ้างเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและรักษ์โลกแก่บริษัท แต่อาจไม่ได้มีการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริง เช่น ให้ข้อมูลเท็จหรือเกินจริงในรายงานด้านความยั่งยืนของบริษัท เป็นต้น”

 

ทำไมถึงสำคัญและเป็นเรื่องที่ต้องระวัง?

  • เป็นการให้ข้อมูลเท็จและบิดเบือน ซึ่งทำลายความน่าเชื่อถือของระบบการเปิดเผยข้อมูล ความถูกต้องและแม่นยำของข้อมูล ซึ่งล้วนเป็นกลไกที่แสดงถึงประสิทธิภาพของตลาดในการกำหนดราคา
  • เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของผู้บริโภค ทำให้เชื่อว่าบริษัทได้ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปัญหากำลังได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง ซึ่งอาจไม่ได้ลดผลกระทบจริง
  • ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้เล่นในตลาดฯ บริษัทที่ทำการฟอกเขียว/แอบอ้าง ไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากไม่ได้รับโทษ กลับได้สิทธิประโยชน์เท่ากับบริษัทอื่น ๆ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นต้น
  • และในระยะยาว บริษัทที่มีการดำเนินการเรื่อง ESG จริง อาจถูกผลักออกจากตลาด เนื่องจากผู้บริโภคไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างว่าบริษัทไหนทำจริงหรือไม่จริง

*ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, กันยายน 2022

 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมและขับเคลื่อนตลาดทุน ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยตลอดเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ พัฒนากลไกป้องกันไม่ให้เกิดการฟอกเขียวอย่างดีที่สุด เพื่อเป็นตัวอย่างและแนวทางให้กับบริษัทจดทะเบียนทั้งในตลาดฯ และนอกตลาดฯ และลดความเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) โดยมุ่งเน้นคุณลักษณะใน 3 ด้าน ดังนี้

  1. ข้อมูลสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ (Availability)
  2. ข้อมูลสามารถเปรียบเทียบกันได้ (Comparability)
  3. ข้อมูลสามารถวางใจและเชื่อถือได้ (Reliability)

ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการจัดทำ คู่มือการรายงานความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน เพราะเชื่อมั่นว่า การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และโปร่งใส เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดความสนใจของผู้ลงทุน ข้อมูลด้านการเงิน (Financial Data) เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว ข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (Non-financial Data) เช่น ข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร ซึ่งถือเป็นอีกข้อมูลสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน เนื่องจากภาคธุรกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่มีการเปลี่ยนแปลงและซับซ้อนมากขึ้นตลอดเวลา ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าข้อมูลด้าน ESG ยังช่วยให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าใจถึงมุมมองของการประกอบธุรกิจในมิติที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสียในศักยภาพของการดำเนินธุรกิจในระยะยาว

อีกด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด Greenwashing ในอนาคต ตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเข้าถึงข้อมูล (Accessibility) โดยเฉพาะข้อมูลด้าน ESG จึงจัดทำแพลตฟอร์มกลางที่ยึดโยงข้อมูลด้าน ESG ในตลาดทุน ด้านนึงเพื่อเพิ่มคุณภาพของข้อมูลที่น่าเชื่อถือ (Reliable Data) ในการนำไปวิเคราะห์ ตัดสินใจทางธุรกิจและการลงทุน ส่วนอีกด้านเพื่อรวบรวม เผยแพร่ และสร้างฐานข้อมูล ESG ของตลาดทุนไทย ดังนั้นแล้วด้วย สองหัวใจสำคัญคือการเปิดเผยข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลด้าน ESG ที่ครบถ้วน ถูกต้อง และโปร่งใส ทำให้ทั้งบริษัทจดทะเบียนและผู้ลงทุนเองมั่นใจได้ว่า Greenwashing จะลดน้อยลง และมีกิจกรรมที่สร้างผลกำไรและลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น และท้ายที่สุดเพื่อระบบนิเวศของภาคตลาดทุนไทยที่เข็มแข็งและยั่งยืนต่อไป

 

ทยุต สิริวรการวณิชย์

SET ESG Academy

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย