Topic

ภูมิทัศน์การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน

            ในชีวิตประจำวัน “เรา” ทุกคนคือผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งใน “ผู้มีส่วนได้เสีย” ของบริษัทเอกชนไม่น้อยกว่า 5 บริษัท อย่างไม่รู้ตัว นับตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเข้านอน ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ อาหารที่รับประทาน ความบันเทิงที่ได้รับชม หรือการเดินทางทุก ๆ ย่างก้าว และ “เรา” คือผู้ได้รับผลกระทบจากผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทเหล่านั้น ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าผลกระทบนั้นจะเป็นทางบวกหรือลบ

            ในแว่นของผู้บริโภค เราสามารถติดตามการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทที่สนใจและการรายงานผลกระทบที่บริษัทเหล่านี้ก่อให้เกิดขึ้นได้ ผ่านข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะ ซึ่งกระบวนการเปิดเผยข้อมูลด้านผลกระทบที่บริษัทก่อให้เกิดขึ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “การบริหารจัดการความยั่งยืนขององค์กร (Corporate Sustainability)” ซึ่งปัจจุบันสามารถค้นหาได้อย่างสะดวกบน Google Search เช่น เมื่อพิมพ์ว่า “บริษัท ABC Sustainability”

            ในแว่นของเจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืนขององค์กร ที่มีพันธกิจในการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบเหล่านั้น ก็กำลังเผชิญความท้าทายอยู่ไม่น้อย เพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลเป็นไปอย่างโปร่งใส และตรงตามความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย ในบทความนี้จะสำรวจภูมิทัศน์ด้านการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ผ่าน 3 คำถามหลัก ดังนี้

บริษัทได้อะไรจากการทำรายงานด้านความยั่งยืน:

ในวันที่ความยั่งยืนกลายเป็นความเร่งด่วนและมีความสำคัญ คำถามนี้อาจจะไม่จำเป็น เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยง การกำกับดูแลกิจการ และประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในองค์กร แต่กลับมีข้อมูลที่น่าสนใจ คือ การเปิดเผยข้อมูลการบริหารจัดการความยั่งยืนอย่างมีคุณภาพ จะส่งผลเชิงบวกต่อผลประกอบการของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะบริษัทที่มีการกำหนดประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนที่กระทบต่อสถานะทางการเงิน (Financial Materiality)

 
บริษัทจะติดตามการเปลี่ยนแปลง หรือมาตรฐานใหม่ ๆ อย่างไร :
 

ปัจจุบันจำนวนกรอบ (Framework) และมาตรฐาน (Standard) ในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนมีจำนวนหลายร้อยมาตรฐานทั่วโลก และเต็มไปตัวตัวอักษรย่อที่ต้องทำความเข้าใจ แต่จากสมมติฐานของผู้เขียนคิดว่าการเกิดขึ้นของกรอบหรือมาตรฐานใหม่ ๆ รวมถึงการพัฒนา (เพิ่มหรือลด) ประเด็นการเปิดเผยของมาตรฐานที่มีอยู่เดิม มีความสอดคล้องกับการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติิว่าด้วยการเปลี่่ยนแปลงสภาพภูมิิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties; UNFCCC COP) หรือ COP อย่างมีนัยสำคัญ เช่น COP3 (Kyoto Protocol) ในปี 1997 ส่งผลให้เกิด GRI และ GHG Protocol ตามมา ใน COP21 (Paris Agreement) ในปี 2015 ก็เกิดมาตรฐานสำคัญๆ ตามมาหลังจากนั้น เช่น TCFD CDP และนโยบายสำคัญ ๆ เช่น EU Green Deal เป็นต้น ในขณะที่ COP26 (Glasgow Climate Pact) COP27 และ COP28 เป็นหมุดหมายสำคัญในการควบรวมมาตรฐานต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะมาตรฐานที่สอดคล้องกับการเงิน และยกระดับความเสี่ยงด้าน Biodiversity ขึ้นมาเป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจาก Glasgow Climate Pact ให้ความสำคัญกับเรื่อง Climate Fund และ COP28 UAE ที่มีการยกประเด็นด้าน Loss & Damage Fund โดยมาตรฐานที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็น IFRS-S1, S2 และ TNFD  

ล่าสุดในที่ประชุม Sustainable Finance Forum ของ COP28 UAE 2023 ที่ผ่านมา องค์กรระดับรัฐ 64 แห่ง และนักลงทุนราว 400 สถาบันทั่วโลก มีมติสนับสนุนให้ มาตรฐานIFRS-S1, S2” ซึ่งพัฒนาภายใต้คณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนสากล (ISSB) เป็นมาตรฐานหลักที่จะใช้ในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทเอกชน และได้ประกาศจัดตั้งคณะทำงานเพื่อยก “ร่างมาตรฐาน Net Zero Financial Policy” โดยความร่วมมือระหว่าง PRI IFRS UNEP และอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นกรอบมาตรฐานใหม่ในการเปิดเผยผลการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของภาคเอกชนในอนาคต


จากที่กล่าวมานี้
จะเห็นความเชื่อมโยงว่ามาตรฐานต่างๆ ล้วนมีที่มาจากการเจรจาเกิดขึ้นในการประชุม COP ทั้งสิ้น จึงอนุมานได้เบื้องต้นว่า การประชุม COP ในแต่ละครั้งถือเป็นเวทีสำคัญสำหรับติดตามการเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนต่าง ๆ

บริษัทควรเลือกมาตรฐานอ้างอิงในการเปิดเผยข้อมูลอย่างไร:

เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน นับเป็นความรับผิดชอบของบริษัทต่อผู้มีส่วนได้เสีย แต่การเปิดเผยข้อมูลฯ นั้น ก็ตามมาด้วยต้นทุนด้านงบประมาณในการจัดทำ ต้นทุนทางด้านเวลา และต้นทุนบุคคลากร บริษัทสามารถเลือกใช้มาตรฐานตามบริบทองค์กร ดังนี้

ช่วงเริ่มต้น: แนะนำให้อ้างอิง “คู่มือการรายงานความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน” และเอกสารแนะนำตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน (ESG Metrics) โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ช่วงเปรียบเทียบ: หากบริษัทมีผู้มีส่วนได้เสียในระดับสากลมาก หรือต้องการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนกับอุตสาหกรรมเดียวกัน แนะนำมาตรฐาน GRI Standards 2021 ซึ่งเป็นมาตรฐานหลักที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย และในปัจจุบัน GRI ได้มีการเทียบเคียงความสอดคล้องกับ ESRS รวมถึงมาตรฐานสากลอื่น ๆ ด้วย

ปฏิบัติตามกฎหมายประเทศคู่ค้า: หากบริษัทมีธุรกรรมกับประเทศปลายทางที่มีกฎระเบียบด้านการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน สามารถเลือกใช้มาตรฐานที่ประเทศนั้น ๆ กำหนด เช่น ESRS IFRS-S1, S2 GRI Standards TCFD TNFD ฯลฯ


แม้ว่าจำนวนของมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนจะมีจำนวนมาก แต่ในจำนวนนี้มีเพียงบางมาตรฐานที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย และเป็นที่ยอมรับในภาครัฐของแต่ละประเทศ นักวิเคราะห์ นักลงทุนสถาบัน ฯลฯ อาทิเช่น GRI Standards 2021 IFRS-S1, S2 (ซึ่งรวม TCFD เข้ามาแล้ว) CDP และ ESRS

ภูมิทัศน์ของการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำพาบริษัทก้าวไปสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และสร้างความเข้าใจและภาพลักษณ์ที่ดีต่อผู้มีส่วนได้เสีย

บทความโดย
นิราวัฒน์ นารอด
Sustainability Strategy Analyst
บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล
สมาชิก SET ESG Experts Pool